สะพานซูตองเป้ การมาเยือนแม่ฮ่องสอนในคราวนี้ นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง ปาย , ปางอุ๋ง , บ้านรักไทย แล้ว สะพานแสนสวยอย่าง ซูตองเป้ ก็เป็นอีกที่เที่ยวที่พลาดไม่ได้ เพราะนอกจากที่ สะพานซูตองเป้ นี้จะสวยงามด้วยวิวทิวทัศน์ตามธรรมชาติ และไร่นาของชาวบ้านแล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของชาวบ้าน และยังเป็นพิกัดถ่ายรูปสวยจัดๆ ของแม่ฮ่องสอนอีกด้วย
ต้องบอกก่อนว่าสายถ่ายรูป จะต้องชอบความสวยงาม และถ่ายรูปออกมาสวยอลังการแน่นอน เพราะที่นี่มี สะพานไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดในไทย และจะสวยแตกต่างกันไปตามแต่ละฤดูกาล ในช่วงที่มีการทำนา หน้าฝนนั้น ทุ่งนาเบื้องล่างจะเป็นสีเขียวขจี แต่ในช่วงหน้าหนาว ทุ่งนาสีเขียวจะแปรเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง ได้ความรู้สึกสวยไปอีกแบบ และยังสามารถมาเที่ยวได้ทั้งปี
“สะพานไม้ซูตองเป้” ชื่อนี้อาจจะเป็นที่คุ้นหูของใครหลายๆ คน คำว่าซูตองเป้เป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่าอธิษฐานสำเร็จ หรือบางคนก็บอกว่าแปลว่า ความสำเร็จ
โดยประวัติความเป็นมาของสะพานซูตองเป้นั้น สร้างขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจกันของพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านในหมู่บ้านกุงไม้สักที่ช่วยกันสานไม้ไผ่เป็นแผ่นทอดยาว ข้ามทุ่งนาที่เจ้าของที่อุทิศผืนนาถวายให้แก่วัดกลายเป็นสะพานไม้ไผ่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านกุงไม้สักและสวนธรรมภูสมะ มีขนาดความกว้าง 2 เมตร ยาวประมาณ 500 เมตร ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ก็ได้ใช้สะพานนี้ในการสัญจรไปมา เกิดเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างชาวบ้านและพระพุทธศาสนาได้อย่างสมบูรณ์แบบ
และด้วยความสวยงามมีเอกลักษณ์ของสะพานซูตองเป้ ทำให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยเฉพาะในตอนพระอาทิตย์ขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์ค่อยๆ โผล่พ้นขึ้นมาจากยอดเจดีย์ในสวนธรรมภูสมะ และสาดแสงสีทองมาที่สะพาน สะพานแห่งนี้ในยามเช้าจะถูกอาบไปด้วยสีทอง มีสายหมอกบางๆ โอบล้อมสะพาน ตัดกับสีเขียวสดใสของทุ่งนารอบๆ สะพาน เป็นภาพที่สะกดหลายๆ คนให้อยู่ในภวังค์เมื่อได้เห็น
นอกจากนี้สิ่งสำคัญในการมาเที่ยวสะพานซูตองเป้ ที่ซึ่งหากมาแล้วต้องห้ามพลาดเด็ดขาด นั่นก็คือการใส่บาตรในยามเช้า ซึ่งอย่างที่รู้กันดีว่าสะพานซูตองเป้แห่งนี้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อเชื่อมโยงพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ชุมชน เพราะฉะนั้นในทุกๆ เช้า ประมาณ 6.00 น. จะมีพระภิกษุสงฆ์จากสวนธรรมภูสมะ เดินบิณฑบาตมาบนสะพานซูตองเป้แห่งนี้ มาสู่บริเวณหมู่บ้านกุงไม้สัก ซึ่งระหว่างทางเดินบนสะพานซูตองเป้นั้นก็จะมีชาวบ้านคอยใส่บาตรให้แก่พระภิกษุสงฆ์ในทุก ๆ ช่วง เป็นภาพวัฒนธรรมและประเพณีที่สวยงามมากๆ
อีกทั้งยังเป็นภาพบรรยากาศที่แปลกตาหาชมที่ไหนไม่ได้อีกแล้วกับการตักบาตรบนสะพานไม้ไผ่แบบนี้ ใครที่พกกล้องไปเที่ยวที่นี่ด้วยคุณจะได้ภาพถ่ายที่บ่งบอกถึงความรู้สึกและความอิ่มเอมใจของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สะพานซูตองเป้แห่งนี้มีค่ายิ่งกว่าสะพานไม้ธรรมดา ที่นี่คือศูนย์รวแห่งจิตใจของชาวบ้าน คือสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือ คือสถานที่ท่องเที่ยวอันงดงาม เป็นอีกหนึ่งสถานที่อันซีนแห่งแม่ฮ่องสอน ที่ควรค่าแก่การไปเที่ยวชมอย่างยิ่ง
และที่มาของสถานที่แห่งนี้ยังเกิดจากแรงกายแรงใจของทั้งพระภิกษุ สามเณร ชาวบ้านกุงไม้สัก และคณะศรัทธาต่างๆ ที่ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสามเณรจากสวนธรรมภูสมะ และชาวบ้านในบริเวณนั้นได้สัญจรไป-มา ทำให้เกิดเป็นสะพานไม้ไผ่ กว้าง 2 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร ขึ้นนั่นเอง สะพานแห่งนี้จึงเป็นเหมือนคำอธิษฐานที่สำเร็จของทุกคนที่มาลงแรงช่วยกันสร้างขึ้นมา
สะพานแห่งนี้เชื่อมระหว่าง หมู่บ้านกุงไม้สัก และ สวนธรรมภูสมะ ซึ่งเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่ไม่ได้ใหญ่โตโอ่อ่า แต่เต็มไปด้วยความบรรยากาศแห่งความศรัทธา ที่วิหารประดิษฐาน หลวงพ่อซูตองเป้ พระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพม่าสีทองอร่ามอยู่ด้านใน ภายในพุทธศาสนสถาน สวนธรรมภูสมะ เราสามารถซื้อดอกไม้ ธูปเทียนมาบูชาได้ตามปกติ นอกจากนี้ ยังมีแผ่นไม้เล็กๆ พร้อมปากกา เพื่อเขียนคำอธิษฐานอีกด้วย
สำหรับใครที่อยากมาแล้วได้บรรยากาศดีๆ แนะนำให้มาในช่วงเวลาเช้าตรู่ ประมาณหกโมงเช้า ซึ่งจะตรงกับเวลาที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาตพอดี เราก็จะได้ตักบาตรบนสะพานไม้แห่งนี้ รวมถึงได้ภาพบรรยากาศที่แสนน่าประทับใจอีกด้วย
ความสำคัญ
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี ที่สะพานไม้แห่งนี้จะเต็มไปด้วยชาวบ้านจำนวนมากมาทำบุญตักบาตร เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล เป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ และมีการจัดงานพุทธศิลป์สวดมนต์ข้ามปี เพื่อเสริมสร้างจิตใจให้สงบ และในบริเวณวัดได้มีการจัดตกแต่งด้วยตุงและธงสีหลากหลายสีสันอย่างสวยงาม
ปัจจุบัน
สะพานไม้ไผ่ได้รับการปรับปรุงให้มีฐานที่มั่นคงมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่พระภิกษุสงฆ์ ชาวบ้าน และนักท่องเที่ยว
การเดินทางไปสะพานซูตองเป้
จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนให้ใช้เส้นทางแม่ฮ่องสอน-ปางมะผ้า (ทางหลวงหมายเลข1095) ขับมาประมาณ 10 กิโลเมตรจะถึงแยกบ้านกุงไม้สัก เลี้ยวซ้ายไปทางบ้านกุงไม้สักอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะถึงทางแยกเข้าหมู่บ้าน ตรงเข้าไปทางขวามือตามถนนในหมู่บ้าน ทางเข้าสะพานซูตองเป้จะเป็นทางเดินเล็กๆ ระหว่างบ้านในหมู่บ้าน นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถไว้ที่วัดกุงไม้สัก แล้วเดินย้อนออกมาอีกเล็กน้อย ก็จะถึงทางเดินเข้าสะพานซูตองเป้
เครดิตภาพ
บทความที่คุณอาจสนใจ วัดศรีชุม ตำนานพระพุทธรูปพูดได้